ข่าวสาร พรบ.โลกร้อน งานใหญ่รัฐบาลใหม่ ดันไทยสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ 23 กุมภาพันธ์ 2566   45   พัชรินทร์ ใจเสงี่ยม คาร์บอน โลกร้อน Net Zero พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดาวเทียม

เทคโนโลยีดาวเทียม เป็นของที่อยู่ไกลตัว แต่สร้างประโยชน์ใกล้ตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อในการสัมนา Carbon Accounting : Observation from Space จัดโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

            วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายและการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emission ว่า การบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนศูนย์ ในปี 2065 และการกำหนดแผนการทำงานที่ไม่ได้เน้นการของบประมาณเพิ่มแต่เป็นการปรับการทำงานของหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว และใส่หลักการของการบรรลุเป้าหมายมาเป็นเครื่องชี้วัดการทำงาน Job Description(JD)ใหม่ เพื่อให้เป้าหมายการทำงานที่กำหนดไว้ประสบความสำเร็จ

            เบื้องต้น กระทรวงได้ปรับจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้นแล้ว ยังเหลือการพลักดัน(ร่าง)พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ..... ซึ่งคาดว่าจะไม่ทันรัฐบาลชุดปัจจุบัน ดังนั้น หากคำนวนกำหนดเวลาที่จะนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ น่าจะเป็นช่วง ส.ค. 2566 ซึ่งต้องอาศัยการพลักดันของรัฐบาลชุดใหม่ 

            “ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลเรื่องการผลักดันกฎหมายโลกร้อนนี้ยังเป็นสิ่งจำเป็นและมั่นใจว่าจะได้รับการพลักดันต่อเนื่องต่อไป เพราะเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นอาณัติmandateที่ผู้มีหน้าที่ต้องลงมือทำ”

            นอกจากการจัดโครงการการทำงานเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ การดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ซึ่งภาคเอกชนอย่างปตท.ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนา ขณะนี้อยู่ในขั้นหาแหล่งชั้นหินที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอน และเป้าหมายจากนี้จะไม่ได้แค่การกักเก็บเท่านั้น แต่จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ให้ได้ในปี 2040 ซึ่งขณะนี้แม้จะดำเนินการได้แล้วแต่พบว่าต้นทุนการนำไปใช้ประโยชน์ยังสูงมากเฉลี่ยที่ 100 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน

            “ประเทศไทยเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนลำดับที่ 19ของโลก แต่เราได้รับผลกระทบจากโลกร้อนลำดับที่ 9ของโลก สิ่งที่ผมทำคือ ไปบอกกับเวทีระหว่างประเทศว่า ไทยต้องได้รับการชดเชย ด้วยการนำความสามารถการกักเก็บ ดูดซับ และลดคาร์บอนไปแลกเกิดเป็นตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งไทยและสวิสเซอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่เทรดคาร์บอนระหว่างรัฐต่อรัฐ”

            นอกจากนี้ พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อใช้ตรวจจับและวัดปริมาณคาร์บอนเพื่อให้ทราบสถานการณ์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้การวางแผนทั้งฝั่งการรักษาเครื่องมือดูดซับคาร์บอน เช่น ป่าไม้ และฝั่งการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับสถานการณ์จริง 

            ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า ข้อมูลจากดาวเทียมนั้นมีความสำคัญมาก นอกจากจะช่วยเรื่องการตรวจสอบไฟป่า น้ำท่วม ยังสามารถวัดปริมาณคาร์บอนได้ง่าย มีความแม่นยำและเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

            ปัจจุบันในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีจากดาวเทียม หรือ Climate Tech มาสำรวจการกักเก็บปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่อื่นๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ แก้ปัญหาและนำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC


            สำหรับการวัดปริมาณคาร์บอนทำได้สองแบบคือ การวัดโดยอ้อมด้วยการใช้คนนับจำนวนต้นไม้ ซึ่งอาจใช้เวลานานและมีความคลาดเคลื่อนสูง ในความเป็นจริง การสำรวจพื้นที่ภาคสนามไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น ดังนั้น การวัดโดยใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน จะทำให้สามารถจำแนกประเภทป่าไม้ และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า ได้อย่างถูกต้องเพียงพอกับการใช้งาน

            ซิลเวีย วิลสัน จากหน่วยงานสำรวจด้านภูมิศาสตร์สหรัฐ หรือ United States Geological Survey (USGS)   กล่าวว่า เทคโนโลยีดาวเทียมสามารถช่วยได้ทั้งการบอกปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนและขีดความสามารถการกักเก็บคาร์บนอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง“ป่าไม้” ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่มีศักยภาพป่าไม้ที่ดีหากนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้มอนิเตอร์ศักยภาพของป่า ก็จะทำให้การจัดการเรื่องของคาร์บอนเครดิตเป็นไปอย่างง่ายมากขึ้น

            การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคน ต้องช่วยกันเพราะนี่คือภาระหน้าที่ไม่ใช่ทางเลือกและไม่ว่ารัฐบาล หรือรัฐมนตรี หรือแม้แต่ประเทศใดในโลกต่างต้องช่วยกันทำให้เป้าหมายประสบผลสำเร็จให้ได้ 

By ปราณี หมื่นแผงวารี , กัญญาภัค ทิศศรี23 ก.พ. 2566 เวลา 9:59 น.

ที่มา : 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  https://www.bangkokbiznews.com/environment/1054567   วันที่ 23 ก.พ. 65

เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อสอบถาม : Tel. 0-2223-0021-9 , 0-2223-2593-5 , 0-2222-4102-9

Email : webmaster@dede.go.th

          

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2561 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537