ข่าวสาร เช็คฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากอวกาศ 20 มีนาคม 2566   56   ธัญวรัตน์ ศรีทร ฝุ่น 2.5 PM2.5 อวกาศ

การศึกษาก่อนหน้านี้ยืนยันแล้วว่าหากเราอยู่ในสภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมโครกรัม (PM 2.5) เป็นระยะเวลานาน มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจและการเสียชีวิต แต่ทว่าการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะหรืออาศัยการตรวจวัดจากสถานีตรวจวัดอากาศที่อาจจะไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่

การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อตรวจสอบความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กจึงเป็นทางเลือกที่ทำให้ทราบค่าเฉลี่ยโดยประมาณของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยอ้างอิงจากความสัมพันธ์กับพารามิเตอร์จากดาวเทียมที่มีชื่อว่า ความลึกเชิงแสงของฝุ่นละออง (Aerosol Optical Depth, AOD)

AOD เป็นการวัดค่าการส่งผ่านของรังสีดวงอาทิตย์ที่ส่องผ่านหมอกและฝุ่นละอองลงมายังพื้นโลกของเรา เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นละออง ควัน และมลพิษที่กระจายตัวอยู่ในบรรยากาศนั้น มีคุณสมบัติขวางกั้นรังสีจากดวงอาทิตย์ โดยการดูดกลืนและสะท้อนรังสี ทำให้เหลือเพียงบางส่วนที่เดินทางมายังพื้นโลกได้ดังนั้น ค่า AOD นี้จึงสามารถบ่งบอกถึงปริมาณรังสีที่ส่งตรงจากดวงอาทิตย์และต่อมาถูกขวางกั้นโดยอนุภาคที่แขวนลอยอยู่ในอากาศก่อนที่จะส่งลงมาถึงพื้นดิน ค่า AOD เป็นค่าแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนของจำนวนอนุภาคที่วัดได้เหนือพื้นดินในแนวดิ่งขึ้นไปกับค่าของจำนวนอนุภาคที่วัดได้บริเวณจุดสังเกตบนพื้นดิน

ปัจจุบันมีดาวเทียมหลายดวงที่มีพารามิเตอร์ AOD และใช้ในการคาดการณ์และติดตามสถานการณ์ PM 2.5 เช่น ระบบ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) และ ระบบ Multi-angle Imaging SpectroRadiometer (MISR) บนดาวเทียม Terra

แต่ทว่าการติดตามและประมาณการค่า PM 2.5 ก่อนหน้านี้ อาศัยข้อมูล AOD จากดาวเทียมที่มีวงโคจรผ่านขั้วโลก (Polar-orbiting satellite) เช่น ดาวเทียม Terra และ Aqua ซึ่งทำให้สามารถถ่ายภาพได้เพียง 1 ครั้งต่อวันต่อหนึ่งพื้นที่ นั่นหมายความว่ากลุ่มดาวเทียมที่มีวงโคจรแบบนี้จะไม่สามารถติดตามค่า PM 2.5 อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งวัน เนื่องจากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งก็จะส่งผลให้ค่า PM 2.5 เปลี่ยนแปลงในช่วงระหว่างวันไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีการศึกษานำข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลกที่มีวงโคจรค้างฟ้ามาใช้ในการประมาณการค่า PM 2.5 ซึ่งดาวเทียมที่มีวงโคจรค้างฟ้าเป็นดาวเทียมที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับความเร็วที่โลกหมุนรอบตัวเอง คือ ใช้เวลาในการโคจร 24 ชั่วโมงต่อรอบ ซึ่งเสมือนว่าตำแหน่งของดาวเทียมคงที่ตลอดเวลาหากมองจากพื้นโลก เช่น ดาวเทียมฮิมาวาริ (Himawari) เป็นต้น ทำให้ดาวเทียมสามารถบันทึกข้อมูล ณ พื้นที่เดิมได้ตลอดเวลา เพื่อการติดตามการเปลี่ยนค่า PM 2.5 ได้อย่างต่อเนื่อง

ดาวเทียมฮิมาวาริ เป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่มีวงโคจรค้างฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น ติดตั้งเซนเซอร์ the Advanced Himawari Imager (AHI) อุปกรณ์สำรวจเพื่อสนับสนุนการพยากรณ์อากาศที่ทันสมัย ส่วนข้อมูล AOD ของดาวเทียมฮิมาวาริได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นและช่วงคลื่น มีรายละเอียดข้อมูลอยู่ที่ 5 x 5 กิโลเมตรและให้บริการข้อมูลทุกๆ 1 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเพียงพอต่อการรับมือในช่วงสถานการณ์วิกฤติ PM 2.5

อ้างอิงจากงานวิจัยพบว่าข้อมูล AOD จากดาวเทียมฮิมาวารินั้นมีความสัมพันธ์กับค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่วัดจากสถานีตรวจวัดที่ติดตั้งภาคพื้นดิน และเมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลลม ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องของแต่ละท้องถิ่น ยิ่งทำให้การคาดการณ์ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวบางส่วนของการได้มาซึ่งข้อมูล PM 2.5 ที่ทาง GISTDA ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร มุ่งมั่นในการนำคุณค่าจากอวกาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาในสังคม ซึ่งทุกคนอาจจะเห็นข้อมูลแล้วในหน้าแฟนเพจของ GISTDA ในภาพรวมทั้งประเทศ

แต่หากต้องการซูมเพื่อตรวจสอบค่า PM 2.5 ในพื้นที่ของท่านเป็นรายชั่วโมง แนะนำให้ตรวจสอบได้ที่แอปพลิเคชัน "#เช็คฝุ่น" หรือ Space-Based PM2.5 Monitoring System เว็บไซต์ pm25.gistda.or.th โดยเฉพาะช่วงนี้พี่น้องชาวเหนือ คนที่อาศัยในพื้นที่โซนวิกฤติ เมื่อทราบแล้วก็ต้องหาทางป้องกันตามความเหมาะสมเพื่อสุขภาพของท่านและคนที่คุณรัก มาร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติไปด้วยกันกับการรู้ทันสถานการณ์ด้วยข้อมูลจากอวกาศกันครับ

อ้างอิง : gistda

เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อสอบถาม : Tel. 0-2223-0021-9 , 0-2223-2593-5 , 0-2222-4102-9

Email : webmaster@dede.go.th

          

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2561 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537