เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้ว จะเช็คสถานะและควบคุมดาวเทียมได้อย่างไร ?
การควบคุมดาวเทียมภายหลังการปล่อยตัวจากจรวด จะมีการทำ LEOP (the Launch and Early Orbit Phase) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่วิศวกรควบคุมดาวเทียม (Ground System Engineer) จะติดต่อกับดาวเทียม หลังจากที่แยกตัวออกจากจรวด ซึ่งหากพลาด ขั้นตอนนี้ไปอาจทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับดาวเทียมได้อีก
จากนั้นจึงทำงานร่วมกับวิศวกรระบบควบคุมการทรงตัวของดาวเทียม (Attitude and Orbit Control System (AOCS) Engineer) เพื่อสั่งการระบบควบคุมการทรงตัวให้ดาวเทียมเปลี่ยนการทรงตัว จากสถานะโหมดหมุนเคว้งอย่างอิสระไร้การควบคุม (Random tumbling mode) เข้าสู่สถานะโหมดการควบคุมได้ De-tumble Mode (DTM) จากนั้นทำควบคุมโดยการถ่ายเทโมเมนตัม ผ่านการหมุนรอบแกน Y ( Y Thomson)
โดยจะมีการกาง แผงโซล่าร์เซลล์ที่ขั้นตอนนี้
หลังจากนั้นจะทำการควบคุมดาวเทียมจนดาวเทียมสามารถรักษาการทรงตัว (Coarse Pointing Mode (CPM) โดยหันเพย์โหลดกล้องถ่ายภาพ (Imaging Payload) เข้าหาจุดศูนย์กลางของโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสภาพที่ดาวเทียมพร้อมทำงานและปลอดภัยในอวกาศ
ต่อมา สถานีภาคพื้นดินจะส่งคำสั่งควบคุมต่างๆ ให้ดาวเทียมเพื่อตรวจเช็คสถานะเบื้องต้น (Health Checks) ก่อนสั่งให้ดาวเทียมเข้าสู่สถานะ Nominal Mode (NOM) หรือโหมดที่ดาวเทียมจะรักษาการทรงตัวด้วยความแม่นยำสูง ซึ่งออกแบบมาเพื่อการถ่ายภาพบนพื้นโลก และการถ่ายโอนข้อมูลจากดาวเทียมสู่สถานีภาคพื้น (Satellite downlink operation) เพื่อทำการ Commissioning
ในส่วนของกระบวนการ Commissioning ดาวเทียมนั้น เป็นการทดสอบว่าประสิทธิภาพของดาวเทียมตรงตามความต้องการของเราหรือไม่ เช่น การส่งชุดคำสั่งเพื่อติดตามสถานะของดาวเทียม และสั่งถ่ายภาพ พร้อมทั้งทำการปรับเทียบกล้องถ่ายภาพที่เป็นเพลย์โหลดหลัก ปรับเทียบระบบควบคุมการทรงตัวของดาวเทียม ดาวเทียมต้องรับและส่งสัญญาณตามที่กำหนดได้ โดยทีม Ground Operation จะทำงานร่วมกับวิศวกรดาวเทียมในส่วนนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า ดาวเทียมจะขึ้นไปได้อย่างปลอดภัยและทำงานได้จริง หากเกิดข้อผิดพลาดจะต้องทำการแก้ไขให้เรียบร้อย ก่อนที่จะส่งมอบดาวเทียมให้กับทีมรับสัญญาณและวางแผนภาพถ่ายดาวเทียมต่อไป
ข้อมูลโดย : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) :GISTDA (19/9/2566)
เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้ว จะเช็คสถานะและควบคุมดาวเทียมได้อย่างไร ? | GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)