ข่าวสาร เทคโนโลยี GIS โดดเด่นร้อนแรงแค่ไหน ในชีวิตประจำวัน 18 ตุลาคม 2566   30   พัชรินทร์ ใจเสงี่ยม #เทคโนโลยี GIS #GIS

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถรวบรวม วิเคราะห์ นำเสนอและสืบค้นข้อมูลเชิงพื้นที่ ทำให้ภาพข้อมูลเชิงพื้นที่หนึ่งภาพสามารถอธิบายได้มากกว่าหนึ่งพันคำ แสดงภาพความสัมพันธ์ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป และคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นั้นๆ

 

ปัจจุบัน GIS กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้เสริมกลยุทธ์ทางธุรกิจและกระบวนการตัดสินใจให้กับภาครัฐบาล เอกชน และกลุ่มธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ในการทำแผนที่และวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์เพื่อการจัดการทรัพยากรและบริการที่ดีขึ้น 

  เทคโนโลยี GIS ที่โดดเด่น มีอะไรบ้างที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี  

1. เทคโนโลยีการสำรวจและประมวลผล

• GIS in the Field การเก็บข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่รองรับการใช้งานแอปพลิเคชันเอาไว้หลากหลาย รองรับการทำงานภาคสนามแบบครบวงจรด้วยแอปพลิเคชันพร้อมใช้งาน โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันในการจ่ายงานและรับงานต่าง ๆ รวมไปถึงแอปพลิเคชันสำรวจจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม

• Imagery and Raster GIS การทำงานด้านภาพถ่ายแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล Imagery และ ข้อมูลภาพ Raster ตั้งแต่การสร้าง การประมวลผล การจัดการ การวิเคราะห์ และการแสดงผลภาพ เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งบน Desktop, Server และบน Cloud

• การรวบรวมข้อมูลตามเวลาจริงช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการวิจัยต่างๆ ที่ต้องอาศัยการรวมรวม ประมวลผล และวิเคราะห์ ตลอดจนการโต้ตอบอย่างรวดเร็วของข้อมูลเป็นหลักในกระบวนการทำงาน 

• ดาวเทียมขนาดเล็กและระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAS : Unmanned Aircraft System) ได้แก่โดรนและอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ที่ติดตั้ง Sensor เพื่อรวบรวมข้อมูลจำเป็นสำหรับภาคการเกษตร การขนส่งและการจราจร ด การทำแผนที่ป่าและแม่น้ำที่มีความหนาแน่นสูง เป็นต้น นับเป็นเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้มาซึ่งข้อมูลการรับรู้ระยะไกลแบบเรียลไทม์สำหรับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

• LiDAR (Light Detection and Ranging) ปัจจุบันมีการใช้งาน LiDAR อย่างกว้างขวางทั่วโลก ที่นับเป็นการปฏิรูปรูปแบบวิธีการผลิตแผนที่แบบเดิม ที่มีบทบาทอย่างมากในการจัดการภัยพิบัติ การระบุแนวทางแก้ไขในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติฉับพลัน นอกจากนี้ยังเป็น Sensor สำคัญที่ใช้ติดตั้งใน โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ อีกด้วย

 2. เทคโนโลยีการวิเคราะห์

• Ready-to-Use Contents ชุดข้อมูลพร้อมใช้ที่ช่วยเพิ่มมิติในกระบวนงานการวิเคราะห์ ทั้งข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียม เช่น การหาภัยพิบัติ และภาพถ่ายย้อนหลังต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลเวลาจริง (Realtime) ที่ชัดในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความละเอียดสูงสำหรับการวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพถ่ายในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน (Change Detection) ตลอดจนการหาวัตถุที่สนใจในภาพ (Object Detection)

• Spatial Analysis, Data Science และ GeoAI ที่มาแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เป็นเทคโนโลยีใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงอันเป็นหัวใจสำคัญของนัก GIS ในการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการหาทำเลที่เหมาะสม หรือแม้แต่การรวบรวมข้อมูลและนำเสนอ Solution รูปแบบต่างๆ สำหรับเมืองอัจฉริยะ

• Deep Learning, Machine Learning และ Artificial Intelligence (AI หรือปัญญาประดิษฐ์) เชิงพื้นที่ การผสานเทคโนโลยี Geospatial และ AI จะทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายและซับซ้อนได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมความคิดเห็นตามเวลาจริงเกี่ยวกับสถานที่โดยใช้เวลาที่น้อยลง เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นเราลองนึกถึงช่วงการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน เทคโนโลยีนี้สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางทั้งหมดพร้อมรายละเอียดของสถานที่และสภาพการจราจร และมีการประยุกต์สู่เทคโนโลยีคาดการณ์ว่าพื้นที่บางแห่งในเมืองเผชิญกับปัญหารถติดอย่างไรและการเสนอเส้นทางเลือกที่การจราจรไม่ติดขัด จนสามารถสร้างประโยชน์ต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมการขนส่งได้อย่างกว้างขวาง

• Geospatial AR (Augmented Reality) เป็นการรวบรวมข้อมูล สภาพแวดล้อม และวัตถุ มาจำลองเสมือนจริง 3 มิติ ซึ่งในยุคปัจจุบันแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับ AR ส่วนใหญ่มีชุดข้อมูลภูมิศาสตร์และข้อมูล GPS เพื่อใช้งานในตำแหน่งจริง เช่น Pokemon GO ที่เป็นเกมเสมือนจริงที่ได้รับความนิยมมากด้วยมีการใช้สร้างภาพกราฟิกแบบเคลื่อนไหวใช้แทนภาพลักษณ์จริงของผู้เล่น ซึ่งองค์ประกอบของเกมนี้คือการใช้ชุดข้อมูลตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เป็นส่วนสำคัญ

• Geo-Enabled Systems การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ที่ตอบโจทย์กระบวนการทำงานเฉพาะทาง โดยสามารถประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบผังเมืองและภูมิทัศน์ การทำแผนที่ภายในอาคาร การวิเคราะห์เชิงธุรกิจ และการทำงานภารกิจภาคสนามเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

• Industry-Specific Data Models การทำงานกับข้อมูลเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการข้อมูลแปลงที่ดิน การทำงานกับข้อมูลโครงข่ายด้านไฟฟ้า ประปา ท่อก๊าซ เป็นต้น ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างและแก้ไขแปลงข้อมูลได้อย่างง่าย ๆ โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพของข้อมูล ความถูกต้อง และสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้

 3. เทคโนโลยีการแสดงผลและการประยุกต์ใช้งาน

• 3D & GeoBIM การทำงานด้าน 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็น การแสดงผลข้อมูล 3 มิติ ในรูปแบบต่าง ๆ และยังสามารถทำงานร่วมกับข้อมูลของ BIM หรือ Building Information Modeling สำหรับการบริหารจัดการอาคาร และสิ่งปลูกสร้าง เช่น ข้อมูลความละเอียดสูงภายในอาคาร เป็นต้น

• Codeless App Builders การสร้างแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม เพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้นด้วยแอปพลิเคชันแบบพร้อมใช้งานที่สามารถสร้างเว็บแอปพลิเคชัน พร้อมการสรุปข้อมูลในรูปแบบแผนที่ และกราฟต่าง ๆ ในรูปแบบ Dashboard ที่สวยงามและเข้าใจง่าย

• การจัดการข้อมูลด้วย Cyber GIS และ Cloud GIS

• Google Earth, Google Maps, Open Street Maps ที่ดึงดูดให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่รู้ตัว เป็นผลให้ Platform เหล่านั้นสามารถปรับปรุงแผนที่ให้ทันสมัยและเกิดการรวมรวมข้อมูลในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึงอย่างง่ายดายอีกด้วย

• นอกจากนี้เทคโนโลยี GIS ยังมีบทบาทสำคัญใน อุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับการนำทางและค้นหาเส้นทาง รวมทั้งการเริ่มทดลองผลิตและการทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทั้ง Tesla, Mercedes-Benz, General Motors, BMW, หรือ Apple ต่างล้วนพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติออกมาหลากหลายรุ่นแล้ว


ข้อมูลโดย : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) :GISTDA  (15/5/2566)
เทคโนโลยี GIS โดดเด่นร้อนแรงแค่ไหน ในชีวิตประจำวัน | GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)


เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อสอบถาม : Tel. 0-2223-0021-9 , 0-2223-2593-5 , 0-2222-4102-9

Email : webmaster@dede.go.th

          

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2561 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537