ข่าวสาร GeoAI เครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงยุคใหม่ 15 พฤศจิกายน 2566   13   พัชรินทร์ ใจเสงี่ยม GIS AI GISAI เทคโนโลยี GIS ความเสี่ยง

ผู้บริหารยุคใหม่ใช้ AI เต็มประสิทธิภาพหรือยัง

            แม้ว่าปัจจุบันผู้นำธุรกิจจำนวนมากต่างนำ AI มาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ แต่จากผลการสำรวจของบริษัท Fortune ร่วมกับบริษัท Deloitte กลับรายงานว่าผู้นำเหล่านั้นประเมินค่าของ AI ต่ำเกินไป โดยจากการสอบถามผู้บริหารระดับ CEO ทั้งหมดกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ต่างคาดหวังให้ AI เปลี่ยนงานระบบ Manual ให้เป็นอัตโนมัติเพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นเท่านั้น มีเพียง 31 เปอร์เซ็นต์ที่คาดหวังให้ AI เข้าไปช่วยจัดการความเสี่ยงขององค์กร ซึ่งแท้จริงแล้วเมื่อองค์กรมีข้อมูลที่ถูกต้องและถูกนำมาใช้ร่วมกับ AI มันจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง พร้อมช่วยองค์กรประเมินความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และคาดการณ์ปัญหาในอนาคตได้เป็นอย่างดี
            ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ เช่น รอยร้าวของรันเวย์สนามบิน ก็สามารถรู้ได้โดยการใช้ภาพถ่ายร่วมกับ Object detection model หากเป็นความเสี่ยงทางกายภาพในอนาคต เช่น ความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดจากไฟป่า ก็สามารถคาดการณ์ได้โดยดูจากข้อมูลในอดีตร่วมกับใช้ Predictive model หรือแม้แต่ความเสี่ยงด้านการลงทุน เช่น การเลือกร้านค้าในพื้นที่ที่อาจทำกำไรได้ไม่ดี ก็สามารถสร้างแบบจำลองทำการวิเคราะห์ยอดขายร่วมกับวิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ข้อมูลของกลุ่มลูกค้า เพื่อประกอบการตัดสินใจ
            วิธีการจัดการความเสี่ยงดังกล่าวสามารถทำได้ผ่าน AI ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Geospatial AI หรือ GeoAI ซึ่ง เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รวมอยู่ใน GIS สามารถตรวจจับและทำนายแพทเทิร์นที่เกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ภาพถ่าย สภาพอากาศ ตำแหน่งของสินทรัพย์ แพทเทิร์นของการซื้อ และอื่น ๆ

จัดการความเสี่ยงของวันนี้และอนาคต

            การใช้ GeoAI เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการความเสี่ยงทางกายภาพ เช่น การซ่อมแซมอุปกรณ์หรือป้องกันอาคารที่อาจเกิดความเสียหายจากพายุ เนื่องจากความเสี่ยงทางกายภาพนั้นสัมพันธ์กับพื้นที่ และทรัพย์สินตั้งอยู่บนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเสมอ ซึ่งตำแหน่งนี้เองจะเป็นตัวชี้วัดว่าสินทรัพย์นั้นมีความเสี่ยงอะไรบ้าง และมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดผลกระทบ หรือมีความร้ายแรงของผลกระทบแค่ไหน รวมทั้งการฟื้นตัวจากผลกระทบมีความรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายเพียงใด
            หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือ ผู้ให้บริการด้านพลังงานระดับโลกรายหนึ่งที่นำ GeoAI มาใช้ร่วมกับโดรน และภาพถ่าย เพื่อค้นหาแผงโซล่าที่ไม่ทำงานหรือชำรุด ทำให้ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการรับรู้ข้อมูลแผงที่ต้องการการซ่อมบำรุงแทบจะทันที จึงคำนวณค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมได้ง่าย และสั่งทีมซ่อมบำรุงเข้าซ่อมแซมได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถควบคุมความเสียหายที่อาจกระทบการผลิตพลังงานให้เหลือน้อยที่สุด
            อีกตัวอย่างของการจัดการความเสี่ยงทางกายภาพในอนาคต คือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อ Bouwinvest จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่นำ Predictive model มาใช้ในการทำนายผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศล่วงหน้าไปจนกระทั่งปี ค.ศ. 2050 พร้อมแสดงผลของสภาพอากาศบน Dashboard ผ่านการใช้ GeoAI เพื่อให้เห็นความรุนแรงของผลกระทบในแต่ละภูมิภาคที่บริษัทมีทรัพย์สินอยู่ ทั้งยังสามารถแสดงผลได้ว่าแต่ละทรัพย์สินสามารถรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้หรือไม่ เช่น ปัญหาน้ำขัง ไฟป่า และความร้อนสุดขั้ว เป็นต้น

 เห็นความเสี่ยงและโอกาสทางการลงทุน

            นอกจากนั้น การใช้ Predictive model ยังช่วยทำให้เห็นความเสี่ยงด้านการลงทุน เพราะเมื่อองค์กรทราบผลกระทบของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพย์สินทั้งหมดของพอร์ทโฟลิโอแล้ว ย่อมสามารถตัดสินใจลดความเสี่ยง หรือทำการซื้อหรือขายทรัพย์สินสอดคล้องกับข้อมูล ผู้บริหารในบริษัทด้านการเงินเองก็สามารถใช้โมเดลเดียวกันนี้ในการวิเคราะห์สินเชื่อที่อาจมีความเสี่ยงไม่ได้รับชำระหนี้สืบเนื่องจากความเสี่ยงจากสภาพอากาศ ในขณะเดียวกันผู้บริหารระดับ COO ก็สามารถรับรู้ว่าบริษัทคู่ค้าใดที่อาจประสบปัญหาด้าน Supply chain เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติด้วยเช่นกัน
            การใช้ GeoAI เพื่อสร้างโมเดลรายได้ของหลาย ๆ พื้นที่ที่บริษัทสนใจเปิดธุรกิจก็นับเป็นการจัดการความเสี่ยงด้านการลงทุนเช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งคือร้านค้าปลีกแห่งหนึ่งร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้าน GeoAI ทำการทำนายยอดขายใน 10 ปีข้างหน้าของหลาย ๆ พื้นที่ โดยวิเคราะห์จากประวัติการซื้อขายใน 10 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เครื่องมือ GeoAI จึงทำการจำลองความเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจขาลงให้ด้วย เพื่อให้ผู้บริหารสามารถมองเห็นศักยภาพของแต่ละพื้นที่ตามความเป็นจริง เห็นได้ว่าการที่ GeoAI สามารถตอบคำถามสำคัญต่าง ๆ ได้ล่วงหน้าช่วยผู้บริหารลดความเสี่ยงในการเลือกโลเคชันที่ไม่สร้างผลกำไร และใช้ข้อมูลช่วยตัดสินใจเลือกโลเคชันที่เกิดผลประโยชน์สูงสุดได้

ความเสี่ยงอยู่ที่ไหนและเมื่อไหร่ต้องจัดการ

            แม้ว่าตัวเลขจากสเปรดชีตหรือแผนภูมิจะช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น เห็นจำนวนเงินที่มีโอกาสสูญเสีย หรือเห็นสัดส่วนทรัพย์สินในพอร์ตโฟลิโอที่อาจมีความเสี่ยง แต่การใช้ GeoAI ที่แสดงภาพเป็นแผนที่ช่วยให้ผู้บริหารเห็นความเสี่ยงในโลกแห่งความจริงได้ชัดเจนยิ่งกว่า เช่น อสังหาฯ พื้นที่ใดที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน หรือการขาดแคลน Supply chain จะส่งผลกระทบต่อการผลิตอย่างไร เป็นต้น
            นอกจากนั้น การนำ AI มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี GIS ยังช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่าความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา เพราะผลการวิเคราะห์ไม่เพียงชี้ให้เห็นว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น แต่ยังช่วยให้ผู้บริหารคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทราบว่าเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อ AI มีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเช่นนี้แล้วผู้บริหารยุคใหม่จึงไม่อาจมองข้ามนวัตกรรมทางเทคโนโลยีนี้ได้ และควรนำ AI มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อความก้าวนำหน้าการแข่งขันอยู่เสมอ

ที่มา :  เว็บไซต์ บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด :  Blog   https://www.esrith.com/blog/riskmanagement-a-benefi-of-geoai/ (15 พ.ย. 66)

เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ติดต่อสอบถาม : Tel. 0-2223-0021-9 , 0-2223-2593-5 , 0-2222-4102-9

Email : webmaster@dede.go.th

          

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2561 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537