“School Satellite” เมื่อเด็กไทยได้ลองทำดาวเทียม
หากพูดถึงเรื่องราวของดาวเทียม หลายคนอาจจำชื่อ ‘ไทยโชต’ หรือ ‘ธีออส’ ในฐานะดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย หรือดาวเทียมต่าง ๆ จากนานาประเทศ ตามที่ปรากฏในหน้าหนังสือเรียน
แต่จะเป็นอย่างไร หากเด็กไทยสามารถสานต่อความสนใจจากเรื่องราวในหน้าหนังสือเรียน สู่การเรียนรู้พื้นฐานการพัฒนาดาวเทียม จากวิศวกรที่เชี่ยวชาญ และมีทรัพยากรให้ได้ลองออกแบบและลงมือทำจริง?
ในอดีต การเข้าถึงเทคโนโลยีดาวเทียมของบุคคลทั่วไปคือเรื่องราวที่แทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากดาวเทียมถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ บุคลากร และงบประมาณค่อนข้างสูง เพื่อออกแบบ พัฒนา และประกอบดาวเทียมขึ้นมาหนึ่งดวง ก่อนนำส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ต้องการ
เมื่อเวลาผ่านไป ความสามารถในการเข้าถึงองค์ความรู้ และการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพียงพอ ทำให้ประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถพัฒนาดาวเทียมเป็นของตนเองได้ โดยมีราคาที่ถูกลง พร้อมกับพัฒนาขีดความสามารถของการสำรวจอววกาศ ทั้งในด้านองค์ความรู้และบุคลาการในประเทศได้
GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ส่งวิศวกรไทยไปรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาดาวเทียม และร่วมออกแบบดาวเทียม THEOS-2A ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมาตรฐานระดับ Industrial Grade ดวงแรก ซึ่งมีกำหนดออกเดินทางสู่อวกาศในช่วงต้นปี 2024
เมื่อประเทศไทยมีวิศวกรดาวเทียมที่มีองค์ความรู้และความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ GISTDA จึงได้เริ่มโครงการ ‘School Satellite’ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ ทักษะ และกระบวนการพัฒนาดาวเทียม ให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่สนใจในเทคโนโลยีอวกาศ โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2023 ที่ผ่านมา
ในโครงการนี้ นักเรียนนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 10 ทีม ได้มีโอกาสเสนอแนวคิดการพัฒนาดาวเทียมสำหรับทำภารกิจสำรวจดาวอังคาร ก่อนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้พื้นฐานในการทำดาวเทียม ตั้งแต่โครงสร้าง ระบบพื้นฐาน ซอฟท์แวร์ การปฏิบัติงาน และการทดสอบ จากทีมวิศวกรของดาวเทียม THEOS-2A
เมื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวแล้ว ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้พัฒนาต้นแบบดาวเทียมของตนเอง ผ่านอุปกรณ์ที่สามารถหาได้โดยทั่วไปตามท้องตลาดและโปรแกรมแบบ Open Source พร้อมกับได้โอกาสนำดาวเทียมไปทดสอบที่ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรือ Satellite Assembly Integration and Testing Center ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แบบเดียวกับที่ดาวเทียม THEOS-2A ได้รับการทดสอบจริง ก่อนนำดาวเทียมไปทดสอบจริงในพื้นที่โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (วังจันทร์วัลเลย์) ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคมนี้
สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ คือการที่นักเรียนระดับมัธยม หรือนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดาวเทียมได้ พร้อมกับได้รับองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับการออกแบบและพัฒนาดาวเทียมจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นประโยชน์แก่น้อง ๆ ที่มีความสนใจในสายงานนี้ และยังสร้างความตระหนักรู้ถึงความหลากหลายของงานในอุตสาหกรรมอวกาศได้ในเวลาเดียวกัน
ในยุคที่ทุกประเทศกำลังมองขึ้นไปยังโอกาสบนอวกาศที่กว้างใหญ่ โครงการ School Satellite จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนกิจการอวกาศในประเทศไทยได้ในอนาคต