กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ดำเนินการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันอย่างใกล้ชิด โดยมีการรายงานสถานการณ์จากข้อมูลจุดความร้อนเป็นประจำทุกวัน ส่วนภาพที่เห็นนี้เป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่ผ่านการทำภาพสีผสมเท็จ Sentinel-2B ของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.28 น. แสดงภาพพื้นที่เผาไหม้บริเวณพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นหัวไฟได้อย่างชัดเจน และเมื่อนำข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) จากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS วันดังกล่าวมาซ้อนทับจะพบว่ามีความสอดคล้องกับพื้นที่เผาไหม้ที่ปรากฎบนภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สามารถนำไปวางแผนเตรียมรับมือ ป้องกัน เฝ้าระวัง ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในบริเวณอื่นๆ ต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมหลายดวงและหลายเซนเซอร์และระบบ ไม่เพียงแต่เพื่อภารกิจการติดตามและวิเคราะห์จุดความร้อน (Hotspot) ทั้งยังเพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่ถูกเผาไหม้และสร้างฐานข้อมูลประเภทของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน อาทิ ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS, ดาวเทียม Terra และดาวเทียม Aqua ระบบ MODIS ซึ่งทั้ง 2 ระบบพัฒนาโดย NASA นอกจากนั้นยังมี ดาวเทียม Sentinel ของสหภาพยุโรป ดาวเทียม Landsat จาก USGS รวมทั้งดาวเทียมไทยโชตของประเทศไทยเราเอง ซึ่งดูแลโดย GISTDA เพื่อการตรวจสอบเกี่ยวกับพื้นที่เกิดไฟไหม้หรือจุดความร้อนนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ประเภทใด และวิเคราะห์จุดความร้อนสะสมทั้งในพื้นที่ภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการเตรียมฐานข้อมูลให้มีความพร้อมและอัพเดทอยู่เสมอ โดยเฉพาะฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีตามสถานการณ์จริง เพื่อความถูกต้องของการวิเคราะห์ตำแหน่งของพื้นที่เกิดไฟ โดยทาง GISTDA ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และอัพเดทข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมจากหลากหลายดวงและระบบนั่นเอง
ข้อมูลโดย : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) :GISTDA (14/2/2567)
จุดความร้อนจากการตรวจสอบด้วยดาวเทียม สอดคล้องกับพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นจริง | GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)