จับตา! รัฐบาลขับเคลื่อน ‘กิจการอวกาศ’ ต่อเนื่อง เตรียมส่งดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทยขึ้นสู่อวกาศต้นปี 2566
วันนี้ (23 มิถุนายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยและประชาชนทุกกลุ่มใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างสูงสุด โดยความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการพัฒนาดาวเทียมเล็ก ‘THEOS-2’ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่พัฒนาโดยวิศวกรดาวเทียมชาวไทยกว่า 20 คน จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมจากประเทศอังกฤษเป็นเวลากว่า 2 ปี ได้เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบดาวเทียม ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศในต้นปี 2566
สำหรับดาวเทียมเล็ก ‘THEOS-2’ เป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทย มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม พร้อมด้วยระบบเซ็นเซอร์และกล้องถ่ายภาพ ประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพโลก กล้องถ่ายภาพดาวเทียม อุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็กโลก อุปกรณ์วัดการเคลื่อนไหว อุปกรณ์วัดความเข้มของแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์ GPS สามารถบันทึกภาพที่มีรายละเอียดประมาณ 1 เมตรต่อพิกเซล เมื่อส่งขึ้นสู่อวกาศแล้วจะโคจรรอบโลกวันละ 13-14 รอบ และผ่านประเทศไทย 3-4 รอบต่อวัน ถือเป็นความก้าวหน้าด้านพัฒนากิจการอวกาศของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (TSC) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ภายใต้กรอบความร่วมมือของพันธมิตรทั้ง 4 หน่วยงาน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (S-Curve 7) และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-Curve 11)
รัชดากล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันส่งเสริมการสร้างและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน บริภัณฑ์ภาคพื้น และอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานพร้อมกับการสนับสนุนจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในการทดสอบชิ้นงาน และให้การรับรองคุณภาพความปลอดภัยในการใช้งานตามมาตรฐาน AS9100D ทำให้ผู้ใช้งานมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยในชิ้นส่วนอากาศยานที่ผลิตภายในประเทศ รวมทั้งกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ
บทความที่เกี่ยวข้อง :