โลกทุกวันนี้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูล ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างแน่นอน ทั้งในการพัฒนาของภาครัฐ การศึกษาวิจัย และในภาคธุรกิจ ดังคำกล่าวที่ว่า “Data is Power” แล้วจะดีแค่ไหนหากประเทศไทยสามารถมีแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านภูมิสารสนเทศ ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้ครบในแพลตฟอร์มเดียว
.
และนี่คือเหตุผลที่วันนี้ GISTDA อยากเชิญชวนให้ทุกคนได้มารู้จักกับ The Open Geospatial Platform : Sphere หรือที่เรียกว่า “Sphere” แพลตฟอร์มข้อมูลมหภาคเชิงพื้นที่แบบเปิด ให้บริการ Map API และ Web services เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและการพัฒนานวัตกรรม ที่มีทั้งข้อมูลหลากหลาย ได้มาตรฐาน และความสามารถที่ครบครัน ขอนิยามสั้น ๆ ให้กับแพลตฟอร์มนี้ว่า “Sphere เคลียร์ ครบ จบ ในแพลตฟอร์มเดียว”
หากใครรู้จักแพลตฟอร์ม Google Map APIs น่าจะพอนึกภาพออก ว่า “ครบ” “จบ” ที่ว่าเป็นอย่างไร ซึ่ง Sphere สามารถให้บริการได้ไม่ต่างจาก Google Map APIs เลย ต่างกันที่ Sphere นั้น รู้จักประเทศไทยดีกว่า Google และแน่นอนว่าทุกคนสามารถใช้ Sphere แทน Google Map APIs ได้เลย
.
สำหรับคนที่ยังไม่เคยลองใช้บริการแพลตฟอร์ม Google Map APIs เลยอาจจะยังนึกภาพไม่ออก ว่าตกลงแล้ว Sphere ให้บริการอะไรบ้าง แล้วมันมีประโยชน์ยังไง ขอสรุปแบบสั้นๆ ให้เข้าใจกันได้ง่ายมากขึ้น คือ. คำว่า ข้อมูล “ครบ” ไม่ได้หมายถึงแค่การมีข้อมูลเยอะ แต่คลังข้อมูลเชิงพื้นที่ใน Sphere หรือที่เรียกว่า Data Cube นอกจากมีความหลากหลายแล้ว ยังได้มาตรฐาน สามารถใช้ร่วมกับ platform อื่นๆ ได้ในรูปแบบออนไลน์ ที่สำคัญคือง่ายต่อการค้นหาและเข้าถึง มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องย้อนหลังหลายปี และยังอัพเดตต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละห้วงเวลาอีกด้วย ผู้ใช้งานสามารถสร้างการประมวลผลข้อมูลด้านแผนที่ และ Space-Time แบบออนไลน์ง่าย ๆ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “Open Data Cube”
และแน่นอนว่า Sphere ไม่ได้มีดีเพียงบริการข้อมูลเท่านั้น ยังมีฟังก์ชัน Map Maker ให้เราสามารถสร้างและนำเสนอ Web Application ด้านภูมิสารสนเทศ ได้อย่างง่ายดาย เพียงเลือกหยิบข้อมูลที่ต้องการ มาประมวลผลด้วยฟังก์ชันของ Sphere พัฒนาสู่ข้อมูลเชิงลึก และสร้างเป็น Application เพื่อเล่าเรื่องราวของข้อมูลตามแบบฉบับของเราเอง ผ่าน Open Portal เครื่องมือการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลาย พัฒนาสู่นวัตกรรม หรือ Solution ในเชิงพื้นที่ สนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ได้ แบบที่เรียกว่า Low-code, High efficiency ที่แม้จะไม่เชี่ยวชาญทางเทคนิค ก็สามารถสร้าง Application ที่มีประสิทธิภาพได้
.
โดย Sphere จะมี API Service ที่เรียกว่า GISTDA Sphere API เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลเชิงพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน พร้อมให้ทุกคนสามารถไปเลือกหยิบจับมาต่อยอดไอเดียการทำงานได้อย่างอิสระ และสามารถรองรับการใช้งานบนหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น JavaScript, iOS, Android, Flutter, React Native ทั้งการแสดงผลภาพแผนที่ การค้นหาสถานที่ การคำนวณเส้นทาง การค้นหาระดับความสูงจากน้ำทะเล หรือความเหมาะสมในการปลูกพืชประเภทต่าง ๆ ซึ่งสามารถเรียกใช้งานได้อย่างง่ายดายผ่าน Web Services
นอกจากการสร้างแผนที่และแอปพลิเคชันแล้ว อีกฟังก์ชันเด่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ Where App แอปพลิเคชันผู้ช่วยเรื่องข้อมูลที่ตอบโจทย์ทั้งการเดินทางและข้อมูลเชิงพื้นที่ กับระบบค้นหาเส้นทางแบบ Turn by Turn Navigation ที่จะเป็นตัวช่วยเสริมด้านข้อมูล ทำให้สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น เลี่ยงเส้นทางภัยพิบัติได้ และยังเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทางอย่างครบครันอีกด้วย พอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมว่า นี่คือ Google Map เวอร์ชันประเทศไทยนั่นเอง
Sphere เลือกใช้เทคโนโลยี Open Source และ Open Standard ในการพัฒนา อธิบายง่าย ๆ คือ มีการเปิดเผย Source Code ของระบบ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นมาตรฐานเปิด หรือหมายความว่า ทุกคน ทุกแอปพลิชัน สามารถเชื่อมต่อกับ Sphere ได้ ตรงนี้คือคำขยายความของคำว่า “เคลียร์” ในนิยามที่บอกไปตอนต้น แล้วทำไมเราจึงเลือกใช้เทคโนโลยีเปิด? เพราะก้าวแรกของการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ย่อมเริ่มจากการแบ่งปัน ต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรข้อมูลและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพได้ เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างอิสระ นักพัฒนาสามารถฝึกทักษะเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพออกมาได้มากขึ้น เป็นการขยายขอบเขตของการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
.
การเกิดขึ้นของ Sphere ในประเทศไทย นับเป็นอีกหนึ่งก้าวแรกของการยกระดับอุตสาหกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยคนไทยเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติ และใช้ข้อมูลที่จัดทำโดยประเทศไทยเอง ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลเหล่านี้เพื่อ “สร้าง” คุณค่าในรูปแบบต่าง ๆ ได้ในแบบฉบับของตัวเอง เพราะหัวใจสำคัญของ Sphere คือ “Accessible” การยกระดับความสามารถในการเข้าถึง “เข้าถึง” ในที่นี้มิใช่เพียงการสามารถเข้าใช้งานระบบได้เท่านั้น แต่หมายถึงการสามารถเข้าถึงประโยชน์จากการใช้ข้อมูลและเครื่องมือของ Sphere เพราะเราไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญก็สามารถใช้งาน Sphere ได้ และยังรวมไปถึงการเข้าถึงองค์ความรู้จากการพัฒนาต่อยอดไอเดียใหม่ ๆ อีกด้วย
แน่นอนว่าก้าวแรกอาจยังไม่สมบูรณ์นัก แต่การเปิดใช้งานในวงกว้างจะทำให้มี Feedback กลับมาพัฒนา Sphere ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ เพราะนี่ไม่ใช่ก้าวสุดท้าย GISTDA และ Sphere จะเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้ใช้งานและนักพัฒนาระบบ เพื่อสร้างคุณค่าและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการภูมิสารสนเทศไทยอย่างไม่มีสิ้นสุด
.
สำหรับใครที่สนใจอยากรู้จัก Sphere มากขึ้น ปัจจุบัน Sphere เปิดให้ทดลองใช้งานได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://sphere.gistda.or.th/